Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Ego vs Self Esteem แบบไหนเรียกมั่นใจ แบบไหนเรียกอีโก้สูง

Posted By Plook Magazine | 01 ต.ค. 64
63,684 Views

  Favorite

คงไม่มีใครอยากหายใจร่วมกับคนอีโก้สูงคับบ้านหรอกใช่ไหมคะ แต่เชื่อไหมว่าทุกคนมีอีโก้อยู่ในตัวเอง และการมีอีโก้มันก็ดีด้วยนะ การมีอีโก้ในระดับที่แข็งแรงจะช่วยทำให้เราพัฒนาตัวตนที่ยอดเยี่ยมได้ แต่หากมีอีโก้มากเกินไปก็จะเป็นปัญหาหรือกลายเป็นคนอีโก้สูงได้ มาเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของการมีอีโก้เพื่อพัฒนาตัวตนที่ยอดเยี่ยมกัน   

 

 

 

อย่างที่บอกไปว่าอีโก้มักจะถูกตีความไปในเชิงลบอยู่บ่อย ๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีใครพูดว่า ‘ไอ้นั่นมันมีอีโก้หน่อย ๆ’ ด้วยความไม่รู้คนส่วนมากก็มักจะนำไปเชื่อมโยงว่า มีอีโก้ = เป็นคนอีโก้สูง ‘เห็นแก่ตัว’ ‘หยิ่ง’ ‘ไม่ฟังใคร’ ‘ฉันคือที่สุดของความเจ๋ง’ หรือ ‘โลกต้องหมุนรอบตัวฉัน’ ซึ่งก็ไม่แปลกเลยเพราะความหมายตามพจนานุกรมไทยคำว่า Ego นั้นแปลว่าอัตตา หรือการถือตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งทำให้หลายคนเมื่อได้ยินคำว่าอีโก้ก็มักจะตั้งแง่ไปก่อนแล้วว่า คนที่มีอีโก้คือคนที่เห็นแก่ตัวเอง แต่ในเชิงจิตวิทยาและคำนิยามของซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้ที่เป็นคนคิดค้นทฤษฎีนี้ขึ้นมานั้น Ego คือตรงกลางที่แข็งแรงระหว่าง Id และ Superego ตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์

 

Id : เราอยากสอบเข้า ม. 4  โรงเรียนนี้ เราจะโกงข้อสอบ หรือไม่ก็ทำทุกวิถีทางที่จะได้เข้าเรียน


Superego : การโกงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่น่าภูมิใจ

 

Ego : ถ้าอยากสอบเข้าให้ได้ก็ต้องขยันอ่านหนังสือ และฝึกทำข้อสอบเก่า ๆ หรือไปเรียนพิเศษ

 

Id จะเป็นจิตที่ไร้สำนึก สิ่งที่ลึก ๆ เราต้องการ ส่วน Superego จะคอยประมวลหาวิธีที่เหมาะสมและไม่ขัดต่อศีลธรรม กฎหมาย จารีต ประเพณีเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และ Ego จะเป็นวิธีการที่ผ่านกระบวนการการประมวลมาแล้วเพื่อให้เราได้มาในสิ่งที่ต้องการ ดังนั้น Ego ของแต่ละคนก็จะต่างกันออกไปตามทัศนคติ สภาพแวดล้อม อิทธิพลของลัทธิความเชื่อ และความสมดุลระหว่าง Id และ Superego ของแต่ละคน นี่คือ  Ego ในความหมายตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์

 

 

ในทางจิตวิทยา อีโก้ ก็คือตัวเราเองนี่แหละ ตัวตนที่เรารับรู้ตัวได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น เรารู้ว่าเรานิสัยแบบไหน เราชอบอะไร เราศรัทธาสิ่งไหน เราเก่งหรือไม่ อีโก้ก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่งต่อตัวเองที่มีทั้งดีและไม่ดีรวมกัน ซึ่งอีโก้จะเปลี่ยนไปบ้าง มีดี มีแย่เมื่อถูกท้าทาย เช่น เราในวัยเด็กไปแข่งระบายสีแล้วได้คะแนนน้อยกว่าเพื่อน ตัวเราก็จะรับรู้ตัวเองได้ว่า เราเป็นคนที่ไม่เก่งระบายสีเอาซะเลย เราไม่เหมาะที่จะเรียนสายศิลป์ ในขณะเดียวกันหากเราไปแข่งคิดเลขเร็วเเล้วทำคะแนนได้ดีเวอร์ เราในวัยเด็กก็จะรับรู้ได้ว่า ฉันเป็นคนที่เก่งเลข โตไปต้องเข้าสายวิทย์แน่ เป็นต้น 

 

ส่วนมากแล้วอีโก้จะถูกสร้างขึ้นเวลาที่เรามีความเชื่อในมุมมองใหม่ ๆ ต่อตัวเอง ผ่านการพิสูจน์แล้วจากประสบการณ์ชีวิตแต่ละช่วงวัย อีโก้พวกนี้จะถูกสะสมมาตั้งแต่เด็กและถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เราพูดคุยกับเพื่อนหรือเวลาที่พ่อแม่และคุณครูชมหรือดุเรา ดังนั้น ‘อีโก้’ จึงเป็นส่วนประกอบของตัวตนมนุษย์ที่มีทั้งดีและไม่ดี มันจึงไม่ได้แปลว่าคนที่มีอีโก้เป็นคนหยิ่งหรือเห็นแก่ตัวตามพจนานุกรม 

 

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่อาจทำให้คำว่า ‘อีโก้’ ดูหมายถึงคนที่หยิ่งหรือมั่นหน้า พร้อมที่จะไม่ฟังใครก็อาจมาจากการที่สมัยก่อนคนไทยเรามีภาพลักษณ์ที่ต้องเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ ทำให้คนที่ดูมั่นใจในตัวเองดูเป็นคนที่มีอีโก้ตามบริบทของวัฒนธรรมที่ทุกคนต้องดูเรียบร้อย พูดน้อย ทำให้คนสับสนได้ว่าคำว่าอีโก้แปลว่าคนหยิ่ง คนมั่นหน้า มั่นใจในตัวเองเกินไป แต่ที่จริงแล้วอีโก้ก็คือตัวเราทั่ว ๆ ไปที่มีทั้งดีและไม่ดี  

 

ส่วนคนที่มีอีโก้สูงนั้นแน่นอนว่ามีอยู่จริง ซึ่งคนที่มีอีโก้สูงก็คือคนที่เชื่อมั่นในตัวตนของตัวเองสูงมากจนไม่ให้ค่าคนอื่นเลย คนที่มีอีโก้สูงกับคนที่มีอีโก้จะแตกต่างกันตรงที่การรับรู้ตัวตนของตัวเอง คนที่มีอีโก้แข็งแรงจะมีความสมดุลของการรับรู้ตัวตนที่ดีและไม่ดีทุกด้าน มองเห็นตัวเองทุกด้าน แต่คนที่มีอีโก้สูงนั้นจะไม่สามารถรับรู้ตัวตนของตัวเองได้ทุกด้านหรือเลือกสร้างตัวตนที่ไม่ตรงกับตัวตนจริง ทำให้เขาค่อนข้างที่จะเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจนเป็นปัญหาได้ 

 

 

คนที่มีอีโก้ที่แข็งแรง

คนที่เห็นตัวตนของตัวเองตามความเป็นจริง พร้อมที่จะเห็นตัวเองในแบบจริงทั้งด้านที่ดีและไม่ดี ไม่หลอกตัวเอง เวลาใครมาตำหนิ ถ้าเขาผิดจริงก็พร้อมจะขอโทษทันที เพราะมีความสมดุลในการรับรู้ตัวตนของตัวเองตามความเป็นจริง ส่งผลให้เป็นคนเรียนรู้และพัฒนาตลอดชีวิต มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองตามมา    

 

คนที่มีอีโก้เปราะบาง

คนที่มองเห็นตัวตนของตัวเองในแง่ลบเพียงด้านเดียว จนทำให้มองเห็นตัวเองว่าไม่มีค่า ไร้ค่า ไม่มีใครรัก ไม่มีใครยอมรับ ไม่เก่งอะไรเลย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอาจไปเจอประสบการณ์ที่ไม่ดีมากระทบจิตใจทำให้มองเห็นตัวเองแต่ในด้านที่เปราะบางและยังมีอีโก้ที่ไม่แข็งแรงพอ ทำให้ยังไม่พร้อมจะเชื่อมโยงตัวตนของตัวเองทุกด้านเข้าด้วยกันเนื่องจากสภาพจิตใจที่ไม่พร้อม 

 

คนที่มีอีโก้สูง

คนที่รับรู้ตัวตนของตัวเองโดยไม่เป็นไปตามความจริง คือเชื่อมั่นในตัวเองสูงมาก จนเผลอไปลดทอนคุณค่า ความคิดของคนอื่น ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดยังไง เวลาเขาถูกตำหนิ เขาจะไม่ขอโทษและไม่ยอมรับว่าเขาผิด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามความคิดของตัวเขาคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นคือไม่ได้เรื่องทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมเพราะเอาตัวเองเป็นศูยน์กลางของจักรวาล

 

 

เราจะเห็นได้ว่าการมีอีโก้นั้นไม่ผิด คุณดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักบำบัดชื่อดัง ได้พูดไว้ในพอดแคสต์ R U OK ไว้ว่า การมีอีโก้ที่แข็งแรงนั้นเป็นเรื่องที่เฮลตี้มาก ๆ ต่อการสร้างตัวตนที่ยอดเยี่ยมด้วยซ้ำ เพราะการเป็นคนที่มีอีโก้ที่แข็งแรงหมายถึง เรามีความสามารถที่จะเห็นตัวเองในแบบที่เป็นจริง พร้อมที่จะเชื่อมโยงตัวตนในปัจจุบันกับตัวตนในอดีตทุกด้านเข้าด้วยกัน จนเป็นตัวเองได้อย่างลงตัว ไม่มั่นใจมากจนอีโก้สูง และไม่เปราะบางมากจนเป็นคนอีโก้เปราะบาง ดังนั้นเส้นแบ่งระหว่างการมีอีโก้ที่แข็งแรงและการมีอีโก้สูงจะอยู่ตรงนี้ คือเมื่อเวลาที่อีโก้ของเราถูกท้าทาย เราจะสามารถมองเห็นตัวตนจริง ๆ ของตัวเองได้ไหม ซึ่งหากเราไม่สามารถรับรู้ตัวตนตามความเป็นจริงได้และไปสร้างตัวตนที่ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ ของเรา เราก็อาจเผลอไปเป็นคนอีโก้สูงได้ ซึ่งคนที่มีอีโก้สูงมักจะเป็นคนในลักษณะนี้ 

 

คนอีโก้สูงต่างจากคนมั่นใจในตัวเองยังไง ?  

1. คุณรู้สึก ‘เหนือกว่า’ เวลาพูดเรื่องปัญหาหรือข้อเสียของคนอื่น

2. เวลาคุณกำลังทะเลาะ คุณจะรู้สึกว่าถอยไม่ได้จนกว่าจะชนะ

3. คุณชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เหนือกว่าคุณ เช่น หน้าตาดีกว่า ฉลาดกว่า เก่งกว่า มีความสุขมากกว่า รวยกว่า มีแฟนหล่อ รวยกว่า

4. คุณชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่าคุณ ฉลาดน้อยกว่า สถานะต่ำกว่า 

5. คุณรู้สึกอิจฉาเวลาคนอื่นได้ดี 

6. คุณพูดเรื่องตัวเองได้เป็นสิบนาทีก่อนที่จะถามคนอื่นว่าเป็นยังไงบ้าง

7. คุณอยากชนะมากกว่าทำให้ดีที่สุด

8. คุณจะซึมเวลาคุณไม่ชนะตอนเล่นกีฬาหรือเวลาทำงาน แทนที่จะรู้สึกภูมิใจที่ทำได้ดีที่สุดแล้ว

9. คุณตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้และโทษตัวเองเวลาที่เป้าหมายไม่เป็นจริง

10. คุณมักโทษคนอื่นเวลาที่อะไรไม่เป็นไปตามที่คิด

 

ดังนั้นการมีอีโก้ในระดับที่พอดีมันเยี่ยมยอด แต่สิ่งที่ยากก็คือจะรักษาความพอดีของอีโก้ยังไงไม่ให้มันสูงมากเกินไปจนทำร้ายคนอื่น ยิ่งคนที่อยู่สูงมาก ๆ หรือเรียนเก่งมาก ๆ ก็อาจจะหลงผิดกลายเป็นคนมีอีโก้สูงได้ง่าย คำแนะนำก็คือ ความคิดที่ว่า ‘แม้ว่าเราจะเก่งแค่ไหนโลกนี้ก็ยังมีคนที่เก่งกว่าเราเสมอ’ การยอมรับว่าคนเรามีความพิเศษแตกต่างกันและวิ่งอยู่คนละลู่เพื่อให้ไปถึงจุดหมายของแต่ละคน และถ่อมตัวอยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เมื่อเราทำพลาดขึ้นมามันจะได้ไม่รู้สึกว่าโลกจะถล่มฟ้าจะทลายลงมาตรงหน้า เพราะเดี๋ยวจะมีเพื่อนยื่นมือมาช่วยเหลือไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้หนักเป็นเบาในเวลาอันสั้น นอกจากจะเป็นความคิดง่าย ๆ ที่จะไม่ทำให้เราเผลอกลายเป็นคนอีโก้สูงแล้ว ยังทำให้เรามีอีโก้ที่แข็งแรงเพื่อพัฒนาตัวตนที่ยอดเยี่ยมไปได้อีกยาว ๆ    

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

คิดบวกมากไปก็ไม่ดีนะ เข้าใจความน่ากลัวของ Toxic Positivity

Ambiverts จะโลกภายในหรือภายนอกก็เอาอยู่

Teen’s Guide ทุกปัญหาของวัยรุ่นมีทางออกเสมอ

เป็นผู้ฟังที่ดี รู้จักคนตรงหน้าให้มากขึ้นด้วยเทคนิค Deep Listening

หลากหลายมิติแห่ง Self Doubt ข้อดีข้อเสียและต้นตอสำคัญที่อาจถูกมองข้าม

รู้จักตัวเองมากขึ้นด้วยการพัฒนาบุคลิกผ่าน 'สี' ตัวเราคือสีอะไร ?

วิธีลดความกดดันในตัวเอง เมื่อคนรอบข้างคาดหวังมากเกินไป

เปลี่ยนจากคนที่มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นคนที่รักตัวเอง

ค้นหาตัวเองอย่างมีความสุขไปพร้อมกันกับ 'Self Concept'

คำถามจิตวิทยา 10 ข้อ ช่วยให้เรารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่

 

 

แหล่งข้อมูล

- จะใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไรกับคนอีโก้ใหญ่คับบ้าน

ถอยหนึ่งก้าว ทะเลกว้าง ฟ้าสดใส

- Id, Ego, and Superego

 
 
 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow