คอนเทนต์ คืออะไร? วิธีสร้าง Content ในช่องทางออนไลน์

คอนเทนต์ คืออะไร? วิธีสร้าง Content ในช่องทางออนไลน์

คอนเทนต์คือราชา (Content is King) เป็นคำคมที่เราได้ยินบ่อยจนเคยชิน แต่ก็เหมือนกับคำคมสุภาษิตต่างๆ สิ่งที่ถูกใช้ถูกพูดถึงบ่อยๆก็เริ่มหมดความความขลังและความหมายไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากเพราะในยุคสมัยนี้ที่การสื่อสารในโลกออนไลน์เกิดขึ้นได้ง่าย คอนเทนต์ก็ควรจะเป็นหัวใจหลักของการตลาดทุกอย่าง

ในบทความนี้เราจะดูกันว่า คอนเทนต์ คืออะไร ตัวอย่างและประเภทของคอนเทนต์มีอะไรบ้าง และเราจะสร้างคอนเทนต์ไว้เพื่ออะไร

คอนเทนต์ คืออะไร (Content)

คอนเทนต์ แปลว่าเนื้อหา หมายถึงการสื่อสารข้อมูลและประสบการณ์ถึงลูกค้าหรือผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้สื่อสารสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ การสื่อสารข้อมูลผ่านคอนเทนต์ที่ดี ต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ผู้รับฟัง ประเภทของเนื้อหา และ ช่องทางการสื่อสาร

โดยรวมแล้ว คอนเทนต์จะประกอบไปด้วยห้าส่วนก็คือ ข้อมูล เป้าหมายของข้อมูล ผู้รับข้อมูล ประเภทของคอนเทนต์ และ ช่องทางการสื่อสารคอนเทนต์

และเนื้อหาที่เราเห็นได้บ่อยที่สุดในโลกออนไลน์ก็คือ วิดีโอ ภาพ เสียง และ การเขียนซึ่งจนกว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลกว่านี้ รูปแบบของคอนเท้นต์ก็คงไม่พ้นสี่อย่างนี้ครับ 

แน่นอนว่า คอนเท้นต์เป็นคำที่เราได้ยินบ่อยในการตลาด นั่นก็เพราะว่า คอนเท้นต์อย่าง ภาพ วิดีโอ การเขียน นั้นก็เป็นวิธีการสื่อสารกับลูกค้านั่นเอง และการตลาดก็คือการบริหารวิธีการสือสารให้กับลูกค้า เพื่อโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นทำอะไรซักอย่าง เช่น การซื้อของ การไลค์วิดีโอ หรือการให้คนทักเข้ามา

หากเราเข้าใจว่า 1) คอนเท้นต์มีหลายประเภท (ภาพ วิดีโอ เสียง การเขียน) และ 2) คอนเท้นต์แต่ละอย่างมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน (ทำให้ซื้อของ ทำให้คนทัก ทำให้คนติดตาม) ที่เหลือก็เป็นเรื่องของ ศิลป์ และ ศาสตร์ ว่าเราจะทำยังไงให้คนชอบ และเราจะทำยังไงให้เราสร้างคอนเท้นค์ออกมาได้รวดเร็วที่สุด ในราคาที่คุ้มค่าที่สุด

ศิลปะแห่งการสร้างคอนเทนต์มีหลายรูปแบบ แต่โดยรวมแล้ว หากคุณเป็นคนหน้าตาดี เป็นคนดัง คนอื่นก็อยากที่จะเสพคอนเท้นต์จากคุณ แต่เนื่องจากว่าบทความนี้เป็นข้อมูลพื้นฐาน ผมจะขออธิบายวิธีสร้างคอนเท้นต์สำหรับคนที่ไม่ดัง และสำหรับมือใหม่ที่หัดทำเลย

ปัญหาส่วนมากของนักสร้างคอนเท้นต์มือใหม่ในโลกออนไลน์ก็คือ ไม่เข้าใจว่าแต่ละช่องทางออนไลน์ทำงานยังไง พูดง่ายๆก็คือไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้ใน Facebook ใน YouTube ใน Google

ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้เหล่านี้ เราก็จะไม่รู้ว่าคนพวกนี้ชอบเสพคอนเท้นต์แนวไหน และก็จะทำให้เราไม่สามารถทำคอนเท้นต์ที่คนเหล่านี้ชอบได้

การสร้างคอนเทนต์จริงๆก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดและการสื่อสาร ซึ่งสำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ประเภทของคอนเทนต์ต่างๆ

ก่อนที่เราจะไปดูเรื่องวิธีการสร้างคอนเทนต์ เราต้องทำความเข้าใจประเภทและเป้าหมายของคอนเทนต์กันก่อนครับ

ตัวอักษร (เขียน) – คอนเทนต์ที่สื่อสารผ่านตัวอักษรเช่นบทความบนบล็อกหรือหนังสือพิมพ์
ภาพ – คอนเทนต์ภาพ ที่หลายคนยอมรับว่าสามารถสื่อสารได้ดีกว่าคอนเทนต์คำพูด เช่น ภาพโฆษณา และ Infographic
เสียง (คำพูด) – คอนเทนต์คำพูดอย่างโฆษณาเสียง วิทยุ และ Podcast ที่สามารถสื่อสารอารมณ์ของผู้พูดได้พร้อมกับข้อมูลต่างๆ
วิดีโอ – เป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่รวบรวมข้อดีของทั้งเสียง ภาพ และ ตัวอักษรเข้าด้วยกัน

นอกจากนั้นแล้ว คอนเทนต์ก็ยังสามารถใช้สามารถใช้สื่อสารข้อความต่างๆ เพื่อเป้าหมายหลากหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

คอนเทนต์ขายของ (Sales & Marketing) – คอนเทนต์ที่เห็นได้บ่อยจากองค์กรธุรกิจ โดยเป้าหมายก็คือการสร้างรายได้ในระยะสั้นและระยะยาว
คอนเทนต์ให้ความรู้ (Informational) – คอนเทนต์มีไว้ให้ความรู้คนอื่น โดยเป้าหมายคือการสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้การโน้มน้าวของคอนเทนต์ขายของทำได้ง่ายขึ้น
คอนเทนต์ให้ความบันเทิง (Entertainment) – มีเป้าหมายเพื่อเพิ่ม ความผูกผัน (engagement) จากคนดู เพื่อทำให้คนอยากเสพคอนเทนต์นมากขึ้น และ นานขึ้น 

โดยคอนเทนต์ที่เราเห็นได้บ่อยทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ก็จะมีส่วนประกอบของคอนเทนต์ทั้งสามประเภทด้านบนนี้

วิธีสร้างคอนเทนต์แต่ละช่องทาง

YouTube

เราก็ไม่สามารถเอาช่องใหญ่ๆมาเป็นเกณฑ์วัดเราได้ ว่าถ้าเราจะเริ่มทำอยู่ทุกวันนี้เราควรจะทำคอนเทนต์แนวไหน 

วิธีเริ่มทำคอนเทนต์บน YouTube ในระหว่างที่คุณยังไม่ดัง ก็คือการทำคลิปช่วยแก้ปัญหาให้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่คุณอยากจะขาย หรือสิ่งที่คุณเชี่ยวชาญ

ซึ่งคำแนะนำในการทำคอนเทนต์บน YouTube เบื้องต้นก็มีหลายอย่าง ทำคลิประหว่าง 8 ถึง 10 นาที ทำปกภาพให้คนอยากคลิก 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำการบ้าน ศึกษาระบบการทำงานของ ‘ช่องค้นหาใน YouTube’ ซึ่งเราสามารถใช้ช่องค้นหาเพื่อดูว่าคนไทยส่วนมากค้นหาอะไรบ้างเกี่ยวกับหัวข้อที่เราอยากจะทำ

เพราะฉะนั้นให้ลองพิมพ์ keyword หรือคำค้นหาที่คนคิดไว้ไปในช่องค้นหา (Search) หลังจากนั้น Youtube จะบอกคุณแล้วว่าคำค้นหาแนวไหนที่คนให้ความสนใจมากที่สุด

ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของการทำวีดีโอ คนส่วนมากอาจจะบอกว่าให้ทำวีดีโอที่คู่แข่งน้อยก่อน แต่สำหรับมือใหม่คุณอาจจะดูไม่ค่อยเป็นว่าอันไหนคู่แข่งน้อย ในเบื้องต้นผมคิดว่าถ้าคุณทำไปสัก 20 วีดีโอ คนก็จะเริ่มมีทิศทางแล้ว

การทำคอนเทนต์บน YouTube สำหรับช่องใหม่ๆนั้นใช้เวลา 2-6 เดือนกว่าจะสามารถจัดอันดับได้ ในตอนแรกเราก็ต้องมีความอดทน

Google

การสร้างคอนเทนต์สำหรับ Google ก็คือการทำให้คนสามารถค้นหาบทความ และ เว็บไซต์ ของเราผ่าน คำค้นหา (keyword) ต่างๆได้ คำศัพท์ในเชิงเทคนิคเรียกว่า Google SEO

หมายความว่า คอนเทนต์สำหรับ Google ก็คือคอนทนต์ที่มีคนต้องการค้นหาอยู่แล้ว เหมาะสำหรับการตอบคำถามที่คนส่วนมากเผชิญ หรือการให้ข้อมูลสินค้าที่คนรู้จักอยู่แล้ว

หลักการการหาคำค้นหาที่มีคนค้นหาอยู่แล้วก็ทำได้เหมือนขั้นตอนของ YouTube หากเราพิมพ์คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เราอยากสร้างคอนเทนต์ลงใน Google ทาง Google ก็จะเสนอคำค้นหาที่มีคนค้นหาจริงให้เราเลือก 

โดยเบื้องต้นนั้น การเขียนคอนเทนต์สำหรับ Google ควรเป็นบทความที่ให้ความรู้คน และมีความยาวอย่างน้อย 1000-1500 คำ อย่างไรก็ตาม หากเป็นบทความสำหรับคำค้นหาที่มีการแข่งขันเยอะ เราก็อาจจะเห็นข้อความที่มีความยาว 2000-3000 คำก็ได้

ในส่วนนี้ ผมแนะนำให้ลองศึกษาการทำ Google SEO จากคู่มือฟรีของผมตรงนี้ วิธีการทำ Google SEO และ การเขียนบล็อก: คู่มือแบบเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่

การทำคอนเทนต์บน Google สำหรับเว็บไซต์ใหม่นั้นใช้เวลา 4-8 เดือนกว่าจะสามารถจัดอันดับได้ นับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก เทียบกับช่องทางการเข้าถึงอื่นๆในโลกออนไลน์

Facebook

ผมต้องบอกก่อนว่าคอนเทต์ใน Facebook นั้นสร้างยากสุด เพราะปัจจัยที่จะทำให้ ‘คอนเทต์ปัง’ ในสองช่องทางนี้มีหลากหลายมาก เราจะให้ความรู้ก็ได้ ให้ความบันเทิงก็ได้ 

สองจุดที่ทำให้คอนเทนต์บน Facebook โตยากก็คือ 1) มีคู่แข่งเยอะ และ 2) Facebook เริ่มลดการเข้าถึงของคอนเทนต์ฟรี (organic reach) ลงเรื่อยๆ เพราะ Facebook อยากให้คนซื้อโฆษณา นั่นก็หมายความว่าโอกาสที่คุณจะโตได้เร็วเหมือนเพจใหม่ๆเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วนั้นมีน้อยมาก และ ความจริงก็คือหากคุณเริ่มจากศูนย์เหมือนกัน การโตบน YouTube-Google นั้นทำได้ง่ายกว่าด้วยซ้ำ

จุดที่สำคัญของคอนเทนต์บน Facebook ก็คือ ‘การเข้าถึงเบื้องต้น’ นั่นก็หมายถึงคอนเนต์ที่มีคนแชร์ คนไลค์ และคนคอมเมนต์เยอะๆ ซึ่งจะเป็นคอนเทนต์ให้ความรู้และให้ความบันเทิงก็ได้เหมือนกัน แต่ในขณะนี้คอนเทนต์ประเภทวิดีโอก็คือสิ่งที่ Facebook กำลังสนับสนุน

ปัญหาก็คือในฐานะ Page ใหม่ ไม่มีคนติดตาม เราจะทำอย่างไรให้คนแชร์เยอะๆ ซึ่งในปี 2020 นี้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการให้เพื่อนช่วยกดแชร์ในระยะแรก และการแชร์เข้าไปใน Facebook Group ที่เกี่ยวข้อง เพราะจนกว่าเพจเราจะมีคนติดตามหลักหลายพัน ถึงหลักหมื่น โอกาสที่เราจะให้คนช่วยโพสแชร์เยอะๆก็มีน้อย

แปลว่าไม่ว่าคอนเทนต์จะดีแค่ไหน หากเราไม่ใชคนดัง (มีคนติดตามเยอะ) เราก็ต้องทำการตลาดเพิ่มเติมอีกที (ขอให้คนแชร์ หรือเอาไปโพสในกรุ๊ปอื่นให้คนเห็นเยอะๆ)

สุดท้ายนี้ เกี่ยวกับการสร้างคอนเทนต์

สุดท้ายนี้ สิ่งที่เราต้องเข้าใจก็คือ คอนเทนต์เพียงบทความเดียว ภาพเดียว วิดีโอ เดียวนั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะปัง หรือเข้าถึงคนได้เยอะๆ (ภาษาการตลาดเรียกว่า ไวรัล Viral) แต่หากเราทำคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง ทำอย่างมีระบบ โอกาสที่คนจะติดตามเราเยอะขึ้นเรื่อยๆก็ไม่ใช่เรื่องยาก

หลายๆคนน่าจะรู้อยู่แล้วว่า คอนเทนต์ขายของ โฆษณาตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งที่คนอยากรับฟัง หากคุณเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก คุณก็ต้องเริ่มจากการทำคอนเทนต์ให้ความรู้ ให้ประโยชน์ ให้ความบันเทิงคนอื่นก่อน หลังจากนั้นค่อยทำการ ‘แทรกคอนเทนต์การขาย’ เข้าไปบ้าง สิ่งนี้เรียกว่าการจัดตารางคอนเทนต์ หรือ Content Calendar/Content Schedule

เพราะฉะนั้นสิ่งสุดท้ายที่เราต้องเข้าใจก็คือ ถึงแม้คอนเทนต์จะเป็นราชา แต่ราชาก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีประชาชน …แปลว่าหากเราไม่ทำคอนเทนต์ที่คนอยากดู คนอยากติดตาม เราก็คงเป็นราชาของเมืองที่ไม่มีคนอยู่ครับ

หากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหาร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด