ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่สัญญาณของการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศไทยได้เปลี่ยนไปจากการเห็นดอกพญาสัตบรรณแบ่งบานส่งกลิ่นหอมโชยไปทั่ว กลายเป็นการมองเห็นฝุ่นขมุกขมัวเหมือนคนสายตาฝ้าฟาง ที่ทำให้เราต้องสูดน้ำมูกกันฟึดฟัด การเผชิญหน้ากับฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 นั้นกลายเป็นสัญญาณบ่งบอกการเข้าหน้าหนาวของคนไทยมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงอีกกว่า 9 จังหวัดในภาคเหนือของไทย

© Chanklang Kanthong / Greenpeace

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับค่าแนะนำคุณภาพอากาศใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถาณการณ์ปัจจุบัน โดยองค์การอนามัยโลกระบุว่าหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถลดมลพิษฝุ่น PM 2.5 ตามค่าแนะนำใหม่คือที่ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2559 เราจะสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คนกว่า 3.3 ล้านคน และจากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) พบว่ามีเด็กกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินค่าแนะนำขององค์กรอนามัยโลก (10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อปอดและเพิ่มความเสี่ยงของการเจ็บป่วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และมีการประมาณการณ์ว่าในปี 2559 เด็กกว่า 600,000 คนทั่วโลกจะเสียชีวิตจากอาการเจ็บปวยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ 

ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (CCAS) ได้มีการจัดการประชุมเสวนา “ประเทศไทยไปทางไหน ต่อเกณฑ์แนะนําคุณภาพอากาศใหม่ ของ WHO” เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ  มาถกประเด็นกันว่าประเทศไทยควรต้องมีการดำเนินการอย่างไรบ้าง และต้องปรับเกณฑ์ควบคุมคุณภาพอากาศตามที่องค์กรอนามัยโลกแนะนำหรือไม่ 

© นพ.ดนัย ธีวันดา

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศของคนไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่าผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลักมากที่สุดได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

โดย นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า “สาเหตุที่พบว่าผู้สูงอายุมีการเจ็บป่วยที่สูงกว่าคนในวัยอื่นนั้นเกิดการการได้รับสัมผัสมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานาน ซึ่งหากปริมาณความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จำนวนเด็กในรุ่นปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับโรคเหล่านี้จะสูงยิ่งกว่าจำนวนผู้ป่วยสูงอายุในปัจจุบัน”

นอกเหนือจากการที่คนไทยต้องสูญเสียสุขภาพที่ดีไปกับมลพิษทางอากาศแล้ว เรายังต้องจ่ายค่าเสียโอกาสด้านสุขภาพ (ค่ารักษาพยาบาล ค่าหน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ) ไปกว่า 2,000-3,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2563) และอาจต้องจัดเตรียมเงินสำหรับการรักษาพยาบาลโรคที่เกี่ยวข้องในอนาคตสูงถึง 200,000 บาท 

ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาขณะนั่งรถเมย์ บริเวณสวนจตุจักร ในวันที่กรุงเทพมหานครมีฝุ่นละอองคล้ายหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ ในวันนี้กรมควบคุมมลพิษได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลว่าบริเวณพื้นที่ริมถนน 20 พื้นที่ มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดได้ที่ 56-103 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ทั่วไป 14 พื้นที่ อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตรวจวัดได้ที่ 55-96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมการแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย © Chanklang Kanthong / Greenpeace

ในส่วนของมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนั้น รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการวิจัยและประเมินมูลค่าต้นทุนความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่น PM10 ของกรุงเทพฯ ซึ่งมูลค่าสูงถึง 446,023 ล้านบาท/ปี (Attavanich, 2019) และผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่าในปี 2563 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของคนไทยกว่า 14,000 รายใน 6 จังหวัด โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 149,367,000,000 บาทกรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 กว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 104,557,000,000 บาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (city’s GDP)

การเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมควบคุมมลพิษให้ปรับลดเพดานค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยลงตามค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อกดดันให้มาตรการในการจัดการและควบคุมมลพิษของประเทศมีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คนไทยทุกคนมีอากาศสะอาดหายใจซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราทุกคน

อ่านข้อเสนอของกรีนพีซในการจัดการมลพิษในการจัดการมลพิษทางอากาศ PM 2.5